ด้วยการทำงานของระบบนิเวศหรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันตลอดเวลาในรูปห่วงโซ่อาหารเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเคลื่อนย้ายของส่วนประกอบต่าง ๆ ของระบบ (คือมีการประกอบกันเข้าและสลายตัวออกของสารประกอบต่างๆ)เป็นทอดๆตลอดเวลา ทำให้ระบบนิเวศรักษาสมดุลอยู่ได้ แต่เพราะโลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผลิตเป็นอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้มีการสังเคราะห์สารเคมีชนิดใหม่ขึ้นได้มากมายอย่างไม่จำกัดในเวลาอันสั้น ทำให้เกิดการใช้สารเคมีมากมาย แต่สังคมขาดความใส่ใจในเทคโนโลยีการจัดการหลังการใช้ผลผลิตที่สร้างขึ้น เนื่องจากไม่สอดคล้องกับปรัชญาทางธุรกิจ เพราะการจัดการหลังการใช้ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร หรือไม่ตระหนักรู้ถึงปัญหาการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ทำให้มีสารเคมีที่มนุษย์สังเคราะห์หรือที่เกี่ยวเนื่องกันถูกปลดปล่อยออกมา ทิ้งเป็นของเสียในสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการควบคุมหรือดูแล เกิดเป็นปัญหาที่ระบบนิเวศของโลกต้องแบกรับ จนอาจเกินจุดอิ่มตัวที่ระบบนิเวศโลกจะไม่สามารถรองรับหรือจัดการได้อีกต่อไปในอนาคต ภาษาของนักพิษวิทยา เรียกว่าโลกมีเกินระดับสูงสุดที่จะทนรับได้ (maximum tolerated dose, MTD) ทำให้เกิดมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัย จนเมื่อถึงจุดหนึ่งระบบนิเวศอาจถึงคราวล่มสลายก็ได้

